เบื้องหลังแรงงานต่างด้าวติดเชื้อ โควิดสมุทรสาคร
หากพบผู้ติดเชื้อ โควิดสมุทรสาคร ในแรงงานต่างด้าว จ.สมุทรสาครเป็นหมื่น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไร้ข้อกังวล มั่นใจเอาอยู่ ทุกอย่างปฏิบัติตามแผนได้อย่างดี เผยปมข้อดี วันแรกตรวจพบแรงงานต่างด้าวติดเชื้อโควิด 548 ราย
การระบาดระลอกใหม่ (Newly Emerging) ของโควิด-19 (COVID-19) ในตลาดแพกุ้ง จ.สมุทรสาคร เป็นการติดเชื้อใหม่จาก แรงงานต่างด้าว ก่อนถึงเทศกาลปีใหม่ ทำให้ประชาชนคนไทยตื่นตระหนกเมื่อมีการรายงานยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด 548 ราย เป็นแรงงานต่างด้าวและสั่งปิดล็อกดาวน์สมุทรสาคร ตั้งแต่ 19 ธ.ค. 63 – 3 ม.ค. 64
หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ในการควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขขยายวงค้นหาผู้มีความเสี่ยง พบมีผู้ติดเชื้อโควิดสมุทรสาครทั้งสิ้น ณ วันที่ 21 ธ.ค. 63 เป็นจำนวน 821 ราย และพบผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มในอีก 4 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ 3 ราย, นครปฐม 2 ราย, สระบุรี 3 ราย, และ กทม. 2 ราย ทำให้ประชาชนเริ่มตื่นตระหนกหลายเรื่อง
จะเกิดการล็อกดาวน์ประเทศหรือไม่ เพราะหลายคนซื้อตั๋วรถทัวร์ ตั๋วเครื่องบินเตรียมตัวกลับบ้านต่างจังหวัดไปหาพ่อแม่ในช่วงเทศกาลปีใหม่?
การระบาดโควิดครั้งนี้เป็นโควิดสายพันธุ์ใด?
การควบคุมการระบาดโควิดในครั้งนี้มีข้อกังวลใจใด?
ทุกๆ ข้อสงสัยมีคำตอบจาก นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(ปลัด สธ.)
ย้อนรอยต้นตอโควิดระบาดระลอกใหม่ ตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร

แรงงานต่างด้าวติดเชื้อโควิด-19 สมุทรสาคร นพ.เกียรติภูมิ ระบุคือ “การระบาดระลอกใหม่” ที่เริ่มเคสแรกเมื่อ 17 ธันวาคม 63 หลังพบหญิงไทยอายุ 67 ปี ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร ซึ่งไม่มีประวัติไปต่างประเทศติดเชื้อโควิด กรมควบคุมโรคและจังหวัดสมุทรสาครพยายามค้นหาสาเหตุการติดเชื้อ โดยตั้งข้อสงสัยไปที่แรงงานจากเมียนมา จึงลงสำรวจพบ “ตลาดกลางกุ้ง” มีแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมานมากถึง 90% ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ
สาเหตุที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโควิดแรงงานต่างด้าวมีจำนวนมากถึง 548 ราย และสั่งล็อกดาวน์จังหวัดสมุทรสาคร ตั้งแต่เวลา 22.00 น. คืนวันที่ 19 ธ.ค. 63 เป็นผลจากแรงงานต่างด้าวพักอาศัยร่วมกันค่อนข้างแออัด ทำให้ใกล้ชิดกันง่ายจึงเกิดการติดเชื้อโควิดจำนวนมาก
หลังติดตามผู้สัมผัสเสี่ยง และเร่งคัดกรองเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง อีกหมื่นรายใน 7 ชุมชน จังหวัดสมุทรสาคร และในวันนี้ 21 ธ.ค. ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ก็มีจำนวนลดลงกว่าวันที่ 19 ธ.ค. ที่ผ่านมา นพ.เกียรติภูมิ บอกถือเป็นสัญญาณดี เนื่องจากแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ไม่ได้ไปคลุกคลี หรือเดินทางไปไหนมาก มีวิถีชีวิตอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ทำให้แพร่เชื้อเฉพาะกลุ่ม โอกาสติดไปยังคนไทยจึงมีไม่มาก ทำให้ควบคุมโรคได้ สำหรับคนไทยมีความเสี่ยงสูงที่เดินทางมาซื้ออาหารทะเลที่ตลาดกลางกุ้งผลออกมาเป็นลบหลายราย หากภายใน 1 สัปดาห์ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มนิ่ง คาดว่าจะสามารถควบคุมโรคได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ และคาดว่าผู้ติดเชื้อไม่น่ามีถึงหมื่นราย
เบื้องหลังแรงงานต่างด้าวติดเชื้อโควิด เชื่อว่าเชื้อโรคทุกอย่างก็ติดได้
สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันโควิด-19 ขอประชาชนหายห่วง มีวัสดุอุปกรณ์พร้อมเต็มที่อย่างเพียงพอในการรับมือการระบาดระลอกใหม่ครั้งนี้ ซึ่งมีสะสมไว้เป็นเวลา 10 กว่าเดือน อาทิ หน้ากากอนามัย 50 ล้านชิ้น ใช้ได้ 3-4 เดือน ผลิตได้วันละ 4 ล้านชิ้น, หน้ากากอนามัย N95 จำนวน 2.9 ล้านชิ้น และ ชุด PPE จำวน 2 ล้านกว่าชุด สามารถผลิตเพิ่มได้วันละ 6 หมื่นชุด ,สำรองเตียงพร้อมรับผู้ป่วย 1,083 เตียง และยาฟาวิพิราเวียร์ 552,811 เม็ด สามารถรักษาได้ประมาณ 8 พันราย
เมื่อทีมข่าวฯ ถามถึงสิ่งที่เป็นข้อกังวลที่สุดสำหรับการควบคุมการระบาดระลอกใหม่ครั้งนี้ นพ.เกียรติภูมิ บอกไม่รู้สึกกังวลกับมาตรการควบคุมโรคในแรงงานต่างด้าวจังหวัดสมุทรสาครเพราะขณะนี้เป็นไปตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่วางแผนไว้ทุกอย่างตั้งแต่ค้นหา ตีวง เฝ้าระวัง สื่อสาร และสร้างความร่วมมือ ซึ่งแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาให้ความร่วมมือด้วยดี ในด้านการสื่อสารกันก็ไม่มีปัญหาเพราะหลายคนพูดไทยได้
“แรงงานต่างด้าวที่ตรวจพบติดเชื้อโควิด ส่วนมากไม่ใส่หน้ากากอนามัย สุขอนามัยไม่ดีด้วย อย่าว่าแต่เชื้อโควิด เชื้ออื่นๆ ก็ติดต่อกันได้ง่ายด้วยเช่นเดียวกัน แต่โชคดีลักษณะของแรงงานพม่าไม่เดินทางออกนอกพื้นที่มากนัก จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม อยู่กันแออัดด ทำให้ง่ายต่อการควบคุมโรค” นพ.เกียรติภูมิเปิดเผยข้อมูล